วันนี้อยากล้างฟิล์มที่ถ่ายเก็บไว้นานแล้ว แถมยังโหลดฟิล์มเข้าแท้งค์สแตนเลสไว้เกือบปี ทั้งฟิล์ม ทั้งแท้งค์นอนนิ่งอยู่ในถุงดำมาตลอด กลัวผงน้ำยา Kodak D76 จะหมดอายุ เลยทดลองล้างดู
ขั้นตอนพื้นฐานก่อนล้างฟิล์มก็คือ การเตรียมน้ำยา ซึ่งผมเลือกใช้ D76 ของโกดักแบบผง นำมาละลายน้ำด้วยอัตราส่วน ผง D76 16.6g ละลายในน้ำประมาณ 300CC หรือเท่ากับน้ำใน 1 แท้งค์สแตนเลสที่จะใช้ล้างฟิล์มนั่นเอง จริงๆตัวเลข300CC นี่ผมไม่มั่นใจว่าจะถูกต้องไหม เพราะไม่มีถ้วยตวงที่แม่นยำ เลยใช้วิธีตวงน้ำด้วยแท้งค์ล้างฟิล์มเสียเลย เพื่อความชัวร์
เมื่อผสมได้แล้วก็ทดลองประสิทธิภาพของน้ำยาเสียก่อน เพราะว่าตัวผงและน้ำยาฟิกเซอร์เข้มข้นเป็นของกึ่งสำเร็จรูปที่ซื้อมานานเกิน 1 ปีแล้ว ผมไม่แน่ใจเรื่องการหมดอายุ เลยทดลองใช้หัวฟิล์มที่ตัดเป็นชิ้นเล็กๆจากม้วนฟิล์มที่จะล้างออกมาจุ่มทดสอบ ฟิล์มที่จุ่มในน้ำยา d76 ประมาณ 25 วินาที จะให้สีเข้มดำ ส่วนฟิล์มที่จุ่มลงฟิกเซอร์ 25 วินาที จะให้ความโปร่งใสมองทะลุได้เหมือนฟิล์มล้างเสร็จแล้ว และผลการทดลองก็ได้ผลตามที่คาดหวัง คือ น้ำยายังมีประสิทธิภาพที่ดี น่าจะใช้งานล้างฟิล์มได้
เมื่อได้น้ำยาที่พร้อมใช้งานแล้ว ก็ลดอุณหภูมิน้ำยาด้วยถ้วยน้ำแข็ง วัดอุณหภูมิด้วยเทอโมมิเตอร์ เราจะทำการล้างฟิล์ม ilford pan100 ด้วยน้ำยา D76 ที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส ใช้เวลา 7 นาที ซึ่งเป็นตัวเลขที่ผู้ผลิตฟิล์มแนะนำ ตัวเลขเหล่านี้มีอยู่ในกล่องใส่ฟิล์ม และมีอยู่ในอินเทอเน็ต หากเราทำกล่องฟิล์มหาย เราก็จำเป็นต้องพึ่งพาข้อมูลจากอินเทอเน็ต
ขั้นตอนการล้างก็คือ จับเวลาเริ่มต้นตั้งแต่เริ่มเทน้ำยาเข้าไปในแท้งค์ พยายามเทน้ำยาให้หมดและไม่หกไม่หยดทิ้งออกนอกแท้งค์ เมื่อเวลาผ่านไปทุก 30 วินาที ให้ทำการเขย่าแทงค์ล้างฟิล์มประมาณ 5 วินาที แล้ววางแท้งค์ไว้กับโต๊ะหรือพื้น อย่าใช้มือจับ เพื่อป้องกันอุณหภูมิไม่ให้ขึ้นสูง จากนั้นก็รอเวลาครบ 1 นาที แล้วเขย่าอีกประมาณ 5 วินาที ทำอย่างนี้จนครบ 7 นาที เมื่อครบนาทีที่ 7 นี้แล้วก็เทน้ำยาออก จะเทคืนใส่ขวดที่เตรียมไว้ก็ได้ เราสามารถเก็บน้ำยาไว้ล้างฟิล์มม้วนอื่นได้อีก ส่วนมากผมจะใช้น้ำยา 2 ครั้ง
การจับเวลาผมใช้วิธีเขียนตัวเลขเรียงไปเลย ต้องการล้าง 7 นาที ก็เขียน 1 2 3 4 5 6 7 ให้ครบทุกตัว แล้วแต่ละนาทีที่ผ่านไปผมก็จะติ๊กบนตัวเลขไปทีละตัว เพื่อให้เราใช้เวลาล้างอย่างถูกต้องแม่นยำ ป้องกันการลืมว่า ผ่านไปกี่นาทีแล้ว เมื่อครบ 7 นาทีแล้ว ก็เทน้ำยาออก และเทฟิกเซอร์ใส่แทน เวลาฟิกส์จะใช้ประมาณ 5 นาที ขั้นตอนฟิกส์นี้ไม่จำเป็นต้องคุมอุณหภูมิแล้ว เพราะฟิกส์จะหยุดทุกอย่างให้เร็วที่สุด เมื่อเทฟิกส์ออกก็ล้างด้วยน้ำเปล่าเปิดให้ไหลทิ้งสัก 20 นาที เพื่อให้น้ำชะล้างสารเคมีต่างๆออกไป ผมเลือกเอาขวดน้ำขนาดใหญ่ มาเจาะรูให้มีน้ำไหลทิ้งได้ที่ด้านล่างขวด แล้วก็ปล่อยน้ำเข้าที่ด้านบน เพื่อให้น้ำท่วมฟิล์มและชะล้างสารเคมีตกค้างออกไปกับน้ำ
ก่อนจะเก็บฟิล์มมาตาก ให้หยด น้ำยา โฟโต้โฟล์ 1 cc ลงไปผสมกับน้ำที่กำลังไหลทิ้ง เพื่อให้ไม่มีคราบน้ำเกาะบนฟิล์มตอนแห้งตัว เมื่อหยด จากนั้นก็เก็บฟิล์มมาตากได้เลย ตากฟิล์มให้ทิ้งตัวเป็นเส้นตรง เมื่อฟิล์มแห้งสนิทแล้วก็ให้เก็บมาตัดใส่ซองพลาสติกใส หลังจากนี้จะนำไปทำ contact sheet หรือ สแกนเป็นไฟล์ภาพดูในคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือก็ตามสะดวก
ด้วยความที่ไม่ได้มีอุปกรณ์กล่องไฟจะถ่ายภาพทั้งม้วนเพื่อทำ contactsheet ก็เลยจะใช้วิธีถ่ายภาพทีละเฟรมเพื่อดูผลงานก่อน ผมใช้โฟมที่ยัดมากับสินค้าเป็นตัวประคองฟิล์ม แล้วก็ใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพฟิล์มตรงๆเลย ภาพที่ได้จะต้องนำไปผ่านโปรแกรมกลับสีดำเป็นขาว และ ขาวเป็นดำ ปรับแต่งโทนกลางภาพให้เข้มสว่างตามที่ชอบ แล้วก็จะได้ภาพขาวดำออกมา