ขอบฟ้าเรียนชั้น ป2 ตอนนี้กำลังเรียน onlineเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด19 และสิ่งที่ได้รับมอบหมายให้ทำคือการค้นคว้าสิ่งที่ตัวเองสนใจ และทำในรูปแบบที่เป็นงานวิจัย ซึ่งในยุคของผมผมจะเรียกว่าทำรายงาน แต่ยุคของลูกจะเป็นรายงานที่ต้องเลือกหัวข้อเอง ตั้งคำถามด้วยตัวเอง และหาคำตอบด้วยวิธีการทดลอง ซึ่งมันดูซับซ้อนกว่าสิ่งที่ผมคาดไว้
นอกจากการเรียน online ในรูปแบบที่มีการโต้ตอบ ใช้โปรแกรม zoom วันละ 2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 1 ชม. เรียนผ่านการพูดคุยหน้าจอแล้ว ก็มีงานที่จะต้องทำส่งทุกวัน เป็นการส่งการบ้านแบบให้ตอนเช้าแล้วส่งตอนบ่าย มีสิ่งที่เรียกว่างานวิจัยที่ให้ทำต่อเนื่องหลายๆสัปดาห์แต่ให้ทะยอยส่งทีละส่วน และในสัปดาห์นี้ก็เป็นงานวิจัยที่มาถึงขั้นตอนการทดลอง ลูกผมก็ออกแบบการทดลองออกมาเป็นการวิ่งและการเลี้ยงลูกฟุตบอลบนสนามหญ้าและสนามปูนเพื่อเปรียบเทียบกัน
พ่อแม่ก็เลยต้องเป็นผู้ช่วยทำงานวิจัยไปโดยปริยาย พ่อแม่ต้องหักห้ามใจไม่ให้ช่วยเหลือจนกลายเป็นทำงานแทนเด็ก ปล่อยให้เด็กได้ออกแบบคิดจินตนาการไป แล้วพ่อแม่ก็เป็นมือเป็นเท้า เป็นผู้ช่วย และเป็นผู้ให้คำแนะนำ ประคองให้เด็กได้คิดได้ทำไปทีละนิด
สิ่งที่สนุกกับการร่วมทำงานวิจัยก็คือ ได้เห็นจินตนาการของลูก ได้เห็นว่าลูกได้เรียนรู้อะไรบ้างในการทำงานหาคำตอบสักหนึ่งเรื่อง การเรียนแนวทาง project base learning มันคงเป็นแบบนี้นี่เอง แนวทางของโรงเรียนเป็นแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไร พ่อกับแม่เพิ่งจะได้สัมผัสจริงจังตอนลูกอยู่ ป2 อาจเป็นเพราะโควิด19ก็ได้ที่ทำให้พ่อแม่ได้มีโอกาสอยู่ในขั้นตอนการเรียนรู้ของลูกอย่างเข้มข้น หากเป็นช่วงเวลาปกติไม่ได้มีโรคระบาด สิ่งเหล่านี้ก็คงเป็นสิ่งที่พบเจอแค่ในรั้วโรงเรียน ในห้องมีเด็ก 29 คน ก็จะมี 29 โปรเจ็ค ครูคงปวดหัวน่าดู
สิ่งที่เด็กในชั้นเรียนได้ทำในโปรเจ็คของเขาเองก็จะเป็นขั้นตอนการทำงานวิจัยเต็มรูปแบบ คือ มีที่มาที่ไป มีสมมุติฐาน หาข้อมูล ออกแบบวิธีการทดลอง ทดลอง สรุปผลการทดลอง และสุดท้ายแถมให้ก็คือ คำถามว่าจะเอาไปต่อยอดอย่างไร สิ่งที่เด็ก ป2 ยุคนี้ทำมันเหมือนสมัยผมเรียนมหาวิทยาลัยเลย
แม้ว่าเนื้อหาสิ่งที่เด็กจินตนาการจะเรียบง่ายและมีคำตอบอยู่แล้วในโลกของผู้ใหญ่ แต่มันก็ใหม่กับชีวิตของเขา จะให้เด็กไปหาคำตอบใหม่ๆได้ยังไง ผมกับแม่ขอบฟ้าก็มองงานของลูกแล้วก็แอบคิดต่อยอด แอบออกแบบการทดลองกันเองให้รัดกุม สุดท้ายพอได้สติก็ปล่อยให้ลูกทำเอง คิดเอง ผิดพลาด และ ไม่รัดกุมในแบบเด็กๆ เพราะผลการทดลองไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหม่ เขาไม่ใช่ ป.โท หรือ ป.เอก เขาแค่ป2
ผ่านไปหลายสัปดาห์ งานดำเนินการมาถึงสรุป หลังจากอ่านบทสรุปงานวิจัยของขอบฟ้าแล้ว ก็ดีใจที่มีการสรุปว่า ผลการทดลองไม่เป็นไปตามสมมุติฐาน ผมเข้าข้างคนที่ทดลองแล้วได้คำตอบว่าไม่ใช่ เพราะชีวิตจริงเราจะมีความสำเร็จแค่วิธีเดียว แต่เรามีเป็นร้อยวิธีที่ผิด การค้นหาแล้วพบกับวิธีที่ผิดจึงเป็นเรื่องปกติ มันไม่ได้เป็นเรื่องเสียหาย นึกถึงคำพูดหล่อๆที่ไม่รู้ใครแปลมาให้ เอดิสันบอกว่า เขาไม่ได้ล้มเหลวพันครั้งในการสร้างหลอดไฟ แต่การสร้างหลอดไฟมีพันวิธี ไม่กล้าเอามาสอนลูกหรอก ผมไม่ใช่นักคิด ไม่ใช่นักพูดให้แรงบันดาลใจ ผมเป็นแค่ผู้ช่วยงานวิจัย