กล้องดิจิทัลค่าย canon จะใช้ไฟล์ชนิด .cr2 ในการเก็บบันทึกภาพแบบ raw หรือภาพที่จะมีข้อมูลมากที่สุด เป็นภาพแรกที่เกิดขึ้นบนเซ็นเซอร์รับภาพ ก่อนที่คอมพิวเตอร์ภายในกล้องจะแปลงไฟล์ภาพนี้อัตโนมัติเป็นภาพ .jpg ที่เราเห็น ไฟล์ raw ชนิดนี้จะเป็นตัวแบกข้อมูล bit สีที่มากที่สุดที่กล้องตัวนั้นถูกออกแบบไว้ เพราะหากเราถ่ายภาพเป็น jpg เราก็จะได้ค่าสีที่มีความลึกของ bit เพียง 8 bit เท่านั้น แต่ไฟล์ raw ของกล้องชนิดใหม่ๆนั้น จะมีระดับความลึกของ bit สี อยู่ที่ 9-14 bit ซึ่งเป็นระดับความลึกของสีที่มากกว่า 8 bit มหาศาล
เมื่อเราถ่ายภาพ raw แล้ว เราจะยังไม่ได้ภาพที่ดีที่สุด เราจะต้องนำภาพ raw ไปแปลงด้วยโปรแกรมเฉพาะ ซึ่งแต่ละค่ายก็มีโปรแกรมของตัวเองที่จะแปลงภาพ raw ให้เป็น jpg ซึ่งค่าย canon ใช้โปรแกรมชื่อ dpp ย่อมาจากคำว่า Digital Photo Professional ส่วนค่ายอื่นๆหากไม่ทำโปรแกรมแปลงไฟล์ของตัวเองก็จะเลือกโปรแกรมจากผู้ผลิตอื่นๆมาแถมให้ เท่าที่จำได้ก็เช่น panasonic จะใช้โปรแกรม silkypix เป็นตัวแปลงไฟล์ raw นอกจากนี้ ค่าย adobe ที่ทำมาหากินกับงานตกแต่งภาพอย่าง photoshop มายาวนาน ก็มีโปรแกรมแปลงไฟล์ raw คุณภาพสูงให้ใช้ด้วย นั่นคือโปรแกรมชื่อ Lightroom ซึ่งผมเคยทดลองใช้บ้างเป็นบางช่วงเวลา
การแปลงไฟล์ raw ให้เป็น jpg จะใช้เวลาพอสมควร หากเราถ่ายภาพมาหลายร้อยภาพ การแปลงไฟล์ raw จะใช้เวลานานมาก อย่างกรณีของ canon ที่ผมใช้ จะแปลงไฟล์ raw จากกล้อง canon eos 6d ความละเอียด 20ล้านพิกเซล จำนวน 100ไฟล์ ใช้เวลาประมาณ 29 นาที บนเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค ASUS ZenBook Flip 14 UM462DA ที่ใช้ซีพียู ryzen7 3700u ซึ่งเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ผลิตในปี คศ 2019
เรามีวิธีเพิ่มความเร็วในการแปลงไฟล์โดยไม่ต้องอัพเกรดเครื่องหรือเปลี่ยนเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วยวิธีง่ายๆก็คือ ให้เราทำการแปลงไฟล์หลายๆจ๊อบพร้อมกัน แทนที่จะทำทั้งหมดในจ๊อบเดียว ยกตัวอย่างเช่น จากภาพ 100 ภาพ ก็ให้เราแบ่งเป็น 3 ส่วน คือชุดแรก 33 ภาพ ชุดที่ 2 อีก 33 ภาพ และชุดที่ 3 อีก 34 ภาพ แล้วเราทำการสั่งให้แปลงทีละชุด โดยการคลิกให้เริ่มแปลงไปทีละชุด เมื่อเริ่มแปลงชุดที่1แล้ว ก็ให้เริ่มแปลงชุดที่ 2 ต่อไปเลย เพื่อให้ทุกชุดถูกแปลงไฟล์ไปพร้อมๆกัน และเมื่อแปลงไฟล์จนจบ เราก็จะได้ภาพออกมา 100 ภาพเหมือนเดิม แต่ผลที่แตกต่างก็คือ ความเร็วในการทำงานจนครบ 100 ภาพ ใช้เวลาน้อยกว่าเกือบเท่าตัวเลย ซึ่งจากการทดลองของผมบนเครื่องคอมพิวเตอร์ตัวเดิม งานแปลง 3 จ๊อบพร้อมกัน ใช้เวลาไป 16 นาที เมื่อเทียบกับวิธีทำร้อยภาพในจ๊อบเดียวที่ใช้เวลา 29 นาที เท่ากับว่าเราทำงานเสร็จด้วยเวลาที่น้อยลงไปกว่าเกือบครึ่งหนึ่ง หรือลดเวลาทำงานเหลือเพียง 55% เท่านั้น
เทคนิคกาารแยกงานเป็นจ๊อบเล็กๆหลายจ๊อบแล้วค่อยสั่งแปลงไฟล์ raw ทุกจ๊อบพร้อมกันเป็นวิธีที่ทำให้เราทำงานเสร็จเร็วขึ้นที่มีประสิทธิภาพสูงมากบนคอมพิวเตอร์ตัวเดิม เข้าใจว่าโปรแกรมแปลงไฟล์ raw ของแต่ละยี่ห้อกล้อง หรือ แต่ละค่าย ก็จะมีความสามารถในการทำงานเป็น multiple batch กันทั้งนั้น เหตุที่เราสามารถทำแบบนี้ได้เพราะการแปลงไฟล์งานเป็นสคริปต์การทำงาน ที่เราสามารถสั่งรันสคริปต์หลายๆสคริปต์พร้อมกันได้ และ ฮาร์ดแวร์ของ ซีพียูที่ปัจจุบันเป็นแบบ หลาย core หลาย thread ก็ออกแบบมาเพื่อทำงานหลายๆงานพร้อมกันอยู่แล้ว อย่าง Ryzen7 3700u ตัวนี้ก็เป็นชนิด 4core 8 thread การทำงานหนักหลายจ๊อบเป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อความคุ้มค่าเลย